ขนมที่ขายตามตลาดสมัยก่อน ก็คงหนีไม่พ้น กุยช่าย ปาท่องโก๋ ขนมไทย สังขยา ขนมชั้น ตะโก้ ขนมหัวแตก และ ขนมหัวผักกาด ขนมหัวผักกาด ฟังชื่ออาจจะดูเป็นขนมโบราณ คนกินตอนนี้คงไม่ใช่วัยรุ่นแน่ อาจจะเป็นคนที่อายุประมาณ 30 up ขนมหัวผักกาด เด็กรุ่นใหม่อาจจะไม่รู้ว่าคืออะไร ขออธิบายคร่าว ๆ คือ ขนมที่ทำจากแป้ง ผสมหัวไชเท้าขูดฝอย กุ้งแห้ง ถั่วลิสง เป็นสูตรมาจากเมืองจีน หัวผักกาด หรือ หัวไช้เท้า เป็นพืชตระกูลหัวใต้ดิน ในญี่ปุ่น นิยมนำมาขูดฝอยใส่ลงในน้ำจิ้ม ขนมหัวผักกาด หรือ ขนมหัวไช้เท้าในภาษาจีนแต้จิ๋วเรียกว่า ไช้เถ่าก้วย ส่วน หัวไชเท้า หรือ หัวผักกาด น่าจะเพี้ยน มาจาก ฉ่ายเถ้า คำว่า ไช้ หรือ ไฉ่ หมายถึง ผัก เท้า หรือ เถ้า หมายถึง หัว รวมกัน หมายถึงหัวผัก ซึ่งต้นของมันจะคล้าย ๆ ผักกาด เลยเรียกกันว่าหัวผักกาด มาดูวิธีการทำขนมหัวผักกาดสูตรอาม่าโบราณกันดีกว่าเผื่อหลายคนจะเอาไปสืบทอดทำให้คุณปู่คุณย่ากินที่บ้าน วัสดุอุปกรณ์ กุ้ง 75 กรัม หัวไช้เท้า 450 กรัม ถั่วลิสง 220 กรัม แป้งข้าวเจ้า 3 ถ้วย แป้งมัน 3/4 ถ้วย น้ำ 3 ถ้วย เกลือ 1.5 ช้อนชา ถาดใส่ขนมที่สามารถนึ่งได้ พายกวนขนม โถผสม ภาพโดยผู้เขียน วิธีการทำ 1. ขูดหัวไช้เท้าให้เป็นเส้น ใสเกลือ ขยำให้นิ่ม แล้วนำไปล้างน้ำ พักไว้ให้แห้ง 2. นำถั่วมาล้างให้สะอาด ต้มให้เปี่อย (ถ้าแข็งพอทำขนมจะไม่อร่อย ทานยาก) 3. คลุกถั่วที่ต้มแล้วกับหัวไช้เท้าที่เตรียมไว้ กุ้งแห้ง คลุกให้เข้ากัน ภาพโดยผู้เขียน 4. ผสมแป้ง 2 ชนิดให้เข้ากัน ค่อย ๆ เติมน้ำ เกลือ คนจนละลายหมด ภาพโดยผู้เขียน 5. นำแป้งผสมกับหัวไชเท้าที่ผสมไว้ คนให้เข้ากัน ภาพโดยผู้เขียน 6. เทใส่ถาด นำไปนึ่งในน้ำเดือดจัด 20-30 นาทีจนสุก พักให้เย็น รับประทานได้ ภาพโดยผู้เขียน สูตรน้ำจิ้ม เป็น ซีอิ้วหวาน(เหมือนซีอิ้วจิ้มข้าวมันไก่) น้ำตาล น้ำส้มสายชู ซีอิ้วขาว พริกขี้หนู ปรุงรสตามชอบ ต้มเพื่อให้ส่วนผสมเข้ากัน เคล็ดลับ ถึงแม้จะเก็บไว้ทานได้หลายวัน แต่ก็แนะนำว่าให้ทานสด ๆ ใหม่ ๆ อร่อยกว่าครับเพราะว่าแป้งอาจจะแข็งไม่อร่อย การขูดหัวไช้เท้า ชิ้นเล็กจะละเอียดและทานอร่อยกว่า การรับประทานจะทำได้หลายอย่าง จะกินตอนนึ่งสด ๆ หรือที่ฮิตสุดก็นำไปทอดกับกระทะแบนให้กรอบ ทานกับน้ำจิ้มอร่อยฟิน ๆ หรือจะนำไปผัดกับถั่วงอกก็อร่อยไม่แพ้กัน