ข้าวคั่ว ใช้ข้าวอะไร ทำยังไง ใส่เมนูไหนได้บ้าง | บทความโดย Pchalisa หลายคนชอบทานอาหาร และบางครั้งบางเมนูที่ทาน มองภาพไม่ออกว่าเขาใส่อะไรมาทำไมมีกลิ่นหอมอร่อยแบบเฉพาะตัว ที่พอบางคนบอกมาว่าใส่ข้าวคั่ว ที่คำนี้ก็สามารถทำให้หลายคนงงไปเลยว่า อะไรคือข้าวคั่ว? ข้าวคั่วเป็นเครื่องปรุงชนิดหนึ่งค่ะ ที่ไม่ได้ใช้กับทุกเมนู แต่ทุกเมนูที่ต้องใช้ แล้วไม่มีข้าวคั่ว จะไม่เป็นสับปะรดทันทีค่ะ ปัจจุบันข้าวคั่วมีคนทำขาย แต่ถ้าไปหาซื้อไม่ได้ก็ยังไม่ใช่ปัญหานะคะ เพราะว่าอะไร? เพราะว่าเครื่องปรุงชนิดนี้เราสามารถทำเองที่บ้านได้ค่ะ ที่บางคนอาจชอบมากกว่า เพราะข้าวคั่วทำเองและทำใหม่จะให้รสชาติและความหอมแบบเข้มข้นค่ะ หลายคนอยากทำขาวคั่วบ้าง แต่ก็สงสัยมาตลอดเรื่องนี้ การทำข้าวคั่วไม่ยากและไม่ง่าย ซึ่งข้าวคั่วทำยังไงนั้น ต้องอ่านต่อได้ในเนื้อหาของบทความนี้ค่ะ ดังนี้ ข้าวคั่ว คือ เมล็ดข้าวสารที่นำมาคั่วด้วยความร้อนจนสุกเหลืองกรอบ ที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว และนิยมใช้เป็นส่วนผสมสำคัญในอาหารอีสานหลายชนิด เพื่อเพิ่มรสชาติและกลิ่นหอมให้กับอาหารค่ะ และเหตุผลว่าทำไมต้องใช้ข้าวคั่ว ก็คือ เพิ่มรสชาติ: ข้าวคั่วช่วยเพิ่มความหอมกรอบให้กับอาหาร ทำให้รสชาติของอาหารกลมกล่อมยิ่งขึ้น เพิ่มสีสัน: สีเหลืองทองของข้าวคั่วช่วยเพิ่มสีสันให้อาหารดูน่ารับประทานมากขึ้น เพิ่มคุณค่าทางอาหารในเมนูต่างๆ ข้าวคั่วทำมาจากอะไร? ส่วนใหญ่แล้วจะใช้ข้าวสารข้าวเหนียวมาทำข้าวคั่วค่ะ เพราะเมื่อคั่วแล้วจะให้กลิ่นหอมและรสสัมผัสที่หนึบกว่าข้าวสารที่เป็นข้าวเจ้า แต่ก็สามารถใช้ข้าวหอมมะลิได้เช่นกัน ซึ่งกรณีนี้สำหรับคนที่นี่ไม่เลือกค่ะ เพราะเขาสามารถหาข้าวสารข้าวเหนียวได้ง่ายๆ วิธีทำข้าวคั่วเอาไว้ใช้เอง เตรียมข้าว: เลือกข้าวเหนียวเม็ดสวย ไม่มีรอยแตกหรือเสียหาย ล้างให้สะอาดแล้วนำไปผึ่งให้แห้ง คั่วข้าว: ตั้งกระทะใช้ไฟกลาง นำข้าวลงไปคั่ว คนตลอดเวลาจนข้าวเหลืองกรอบ มีกลิ่นหอมค่ะ ตำข้าว: เมื่อข้าวเย็นลงแล้ว นำไปตำให้ละเอียด หรือปั่นให้เป็นผงละเอียดค่ะ เคล็ดลับในการทำข้าวคั่ว เลือกข้าวเหนียวคุณภาพดี: จะทำให้ข้าวคั่วมีกลิ่นหอมและรสชาติอร่อย คั่วด้วยไฟกลาง: เพื่อให้ข้าวสุกทั่วถึงและไม่ไหม้ คนข้าวตลอดเวลา: เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าวไหม้ติดกระทะ เก็บข้าวคั่ว: เก็บในภาชนะปิดสนิท เพื่อป้องกันความชื้นและกลิ่นอื่นๆ ทำไมข้าวเหนียวคั่วถึงหอม? หลายคนยังไม่รู้ว่า การคั่วข้าวเหนียวทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีที่ซับซ้อนหลายอย่าง ซึ่งส่งผลให้ได้กลิ่นหอมเฉพาะตัวค่ะ ดังนี้ การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ: เมื่อข้าวเหนียวถูกความร้อนสูงจากการคั่ว น้ำในเมล็ดข้าวจะระเหยออก ทำให้เกิดรอยแตกเล็กๆ บนผิวข้าว ซึ่งจะช่วยให้สารประกอบที่มีกลิ่นหอมระเหยออกมาได้ง่ายขึ้น เกิดปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นระหว่างน้ำตาลและโปรตีนในข้าวเหนียว เมื่อได้รับความร้อนสูง ปฏิกิริยานี้จะสร้างสารประกอบใหม่ที่มีกลิ่นหอมหลากหลายชนิด ซึ่งเป็นสารที่ให้กลิ่นหอมเฉพาะตัวของข้าวคั่ว การสลายตัวของไขมัน: ตามธรรมชาติของข้าวเหนียวมีไขมันอยู่บ้าง เมื่อถูกความร้อน ไขมันเหล่านี้จะสลายตัวและปล่อยกรดไขมันออกมา ซึ่งเป็นสารที่ให้กลิ่นหอมและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ค่ะ ปัจจัยที่ส่งผลต่อกลิ่นหอมของข้าวคั่ว ก็คือ ชนิดของข้าว: ข้าวเหนียวพันธุ์ต่างๆ จะให้กลิ่นหอมที่แตกต่างกันเล็กน้อย อุณหภูมิและระยะเวลาการคั่ว: การคั่วที่อุณหภูมิสูงและระยะเวลาที่เหมาะสมจะช่วยให้ได้กลิ่นหอมที่เข้มข้น วิธีการคั่ว: การใช้กระทะเหล็กหรือกระทะดินจะช่วยให้ได้กลิ่นหอมที่มากกว่าการใช้กระทะเทฟลอนค่ะ เคล็ดลับเพิ่มเติม ควรคั่วข้าวในปริมาณที่พอเหมาะกับการใช้งาน เพื่อป้องกันข้าวคั่วเสีย อย่าคั่วข้าวด้วยไฟแรง: เพราะจะทำให้ข้าวไหม้และมีกลิ่นไหม้ อย่าทิ้งข้าวคั่วไว้นานเกินไป: เพราะจะทำให้ข้าวคั่วเสียคุณภาพและมีกลิ่นหืน ตัวอย่างเมนูที่ใช้ข้าวคั่ว ได้แก่ ลาบ: ข้าวคั่วช่วยเพิ่มความหอมและรสชาติให้กับลาบ น้ำตก: ข้าวคั่วช่วยเพิ่มความกรุบกรอบให้กับน้ำตก ต้มแซ่บ: ข้าวคั่วช่วยเพิ่มความหอมและสีสันให้กับต้มแซ่บ น้ำจิ้มแจ่ว: ข้าวคั่วช่วยเพิ่มความข้นและรสชาติให้กับน้ำจิ้มแจ่ว ปกติผู้เขียนมีข้าวคั่วติดบ้านนิดเดียวค่ะ ถ้าจะให้คิดเป็นเงินก็ประมาณถุงละ 10 บาทเท่านั้น เพราะข้าวคั่วเก็บไว้นานความหอมลดลงแบบเห็นได้ชัดเจนค่ะ เลยไม่ได้เป็นคนชอบกักตุนข้าวคั่ว การทำข้าวคั่วเองสำหรับผู้เขียน สามารถพบเห็นได้บ่อยครั้งเหมือนกันค่ะ ที่ก่อนหน้านี้มักนำมาโขลกให้ละเอียดด้วยครก แต่ตอนหลังมาได้นำมาปั่นแทน ถ้าถามว่ามีอะไรต่างกันไหม มีค่ะ ความหอมของข้าวคั่วจากการโขลกจะมากกว่าแบบปั่นละเอียดค่ะ และมีเมนูที่ผู้เขียนขาดข้าวคั่วไม่ได้เลย ก็คือการทำลาบค่ะ และเมนูอื่นๆ ที่ได้มีการใส่ข้าวคั่ว ได้แก่ แกงอ่อมหอมขมแบบอีสาน ลาบเห็ดขม น้ำจิ้มแบบขมสำหรับจิ้มเนื้อวัวย่าง แกงอ่อมไก่ใส่ผักรวมค่ะ และถ้าเป็นการทานข้าวนอกบ้านที่เจอข้าวคั่ว เช่น น้ำจิ้มแจ่วฮ้อน ลาบหมู ลาบเนื้อ น้ำตกคอหมูย่าง เป็นต้น หากคุณผู้อ่านอยากมีข้าวคั่วไว้ทำอาหารเอง ก็ทำตามคำแนะนำข้างต้นได้เลยค่ะ ซึ่งผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หากชอบบทความแบบนี้อีก ก็อย่าลืมกดติดตามหรือกดบุ๊กมาร์กหน้าโปรไฟล์ไว้นะคะ เพราะจะได้ไม่พลาดบทความใหม่ๆ ที่จะได้นำมาเผยแพร่ในเร็วๆ นี้ค่ะ เครดิตภาพประกอบบทความ ภาพหน้าปกและภาพประกอบเนื้อหาโดยผู้เขียน ออกแบบภาพหน้าปกใน Canva เกี่ยวกับผู้เขียน ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล จบการศึกษา : พยาบาลศาสตรบัณฑิต (B.N.S.) จากวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม กระทรวงสาธารณสุข และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (อนามัยสิ่งแวดล้อม); M.P.H. (Environmental Health) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความสนใจและประสบการณ์เกี่ยวกับ : สุขภาพ จิตวิทยาเชิงบวก การจัดการน้ำเสียและสิ่งปฏิกูล บทความอื่นที่น่าสนใจโดย Pchalisa https://food.trueid.net/detail/lv3X00ebxO2M https://food.trueid.net/detail/6zqlKJj2yy5R https://food.trueid.net/detail/qEDdADaJZx6E หิวใช่ไหม อยากหาของกินอร่อย ๆ ใช่หรือเปล่า ส่องร้านเด็ดร้านดังได้ที่ App TrueID โหลดฟรี !