ก็พอดิบพอดีว่าวันนี้ (29 ธันวาคม 2564) กลับจากซื้อ "ขยะ" ไวหน่อย หยิบสมาร์ตโฟนของพ่อขึ้นดูเวลา พบว่าเป็นเวลา 11:34 (ผมไม่เคยพกของตัวเองไปซื้อ "ขยะ" เลย ไม่ได้มีธุระปะปังอะไรกับชีวิตมากมายขนาดนั้น) บังเอิญให้แม่รุ่นพี่ได้ยินเสียงท้องร้องของผมเข้าพอดี แกเลยว่ารออีกพักหนึ่งนะ แกกำลังนึ่งข้าวเหนียวอยู่ วันนี้กะว่าจะ "ตำส้ม" กิน โดยมีปลาดุกย่างเป็นกำลังเสริมอีกอย่างหนึ่ง ก็พี่เขยรุ่นพี่น่ะสิครับ แกไปตกปลาดุกตัวจัดว่ากำลังน่ากินมาได้หนึ่งตัว เลยนำมาแลกกับกล้วยน้ำว้าหนึ่งเครือ ด้วยประสงค์จะให้แม่ยายทำข้าวต้มมัดให้กินเมื่อมันสุกแล้วดังภาพประกอบ เมื่อตัดมาแล้ว จะต้องวางเครือกล้วยอยู่ในลักษณะนี้ เพื่อให้ยางของมันไหลออกให้หมดจนแห้ง ในขณะที่กล้วยยังคะมำหัวอยู่ที่บ้านเรา เจ้าของปลาดุกกำลังจิบน้ำอมฤตฟองเนียนนุ่มอย่างสบายใจ โดยที่ยางแห้งเมื่อไหร่ ผมก็ต้องกระเตงเจ้ากล้วยเครือนี้ไปส่ง กล้วยนี้มีชื่อว่า "กล้วยส้ม" แต่รสชาติของมันหวาน เหมาะแก่การนำไปทำข้าวต้มมัด แม่แกว่าอย่างนั้น แถมให้ความหวังกับผมว่า ถ้าอีกเครือที่ยังอยู่บนต้นแก่ได้ที่เมื่อไหร่ จะให้ผมตัดมาทำข้าวต้มมัดกินกัน เอาเป็นว่าเมื่อถึงวันนั้น ผมจะนำมาบรรเลงเป็นบทความ ณ ที่นี้แน่นอนนอกเรื่องเตลิดเปิดเปิงไปกันใหญ่แล้ว ย้อนกลับมาถึงเรื่องของข้าวเหนียว - ส้มตำกันดีกว่าครับ ผมเองอยากจะบันทึกภาพเจ้าปลาดุกตัวนี้ไว้นะ แต่ติดตรงที่พ่อรุ่นพี่สิครับนำปลาไปทำเสียก่อน เคล็ดลับอย่างหนึ่งในการที่จะทำให้ปลาดุกไม่คาวเวลารับประทาน คือต้องขูดเมือกบนผิวของมันออกให้หมด ควักไส้ออกโดยหงายตัวของมันขึ้น กรีดตรงระหว่างเหงือกของมัน อีกมือหนึ่งรีดเค้นตั้งแต่ใต้ท้องจนถึงรอยกรีด จะมีก้อนไขมันและไส้ของมันออกมา แล้วล้างให้สะอาด ทีนี้ก็สุดแท้แต่คุณผู้อ่านจะนำไปทำกับข้าวแบบไหน ผัดเผ็ด ย่าง แกง ฯลฯต่อมาก็ว่ากันถึงเรื่องข้าวเหนียว ก็ทั่ว ๆ ไปครับ แบบที่ร้านส้มตำ หรือที่บ้านคุณผู้อ่านบางท่านนึ่งกัน ก็เริ่มจากแช่ข้าวทิ้งไว้อย่างน้อยสามชั่วโมง แต่ถ้าจะให้เพอร์เฟกต์ล่ะก็ แช่ข้ามคืนเลยยิ่งดีใหญ่ (ถ้าจะนึ่งราวตีสี่ตีห้านะครับ) ข้าวเหนียวที่(สำหรับตัวผม)รับประทานอร่อยที่สุด คือ "ข้าวเหนียวเขี้ยวงู" ทั้งนิ่มและหอมละมุน เปรียบกับข้าวเจ้าแล้ว ก็คือข้าวหอมมะลินั่นเอง แต่ถ้าจะให้หอมยิ่งขึ้นไปอีก มีกลิ่นแบบชาววังนิด ๆ ก็ใส่ใบเตยรองไว้ตรงก้นหวดสักสี่ห้าใบ เท่านี้เมื่อสุกแล้วรับประกันว่ากินแล้วโคตรฟินมาถึงเมนคอร์สของมื้อนี้กันดีกว่า "ตำส้ม" หรือ "ส้มตำ" ครับ เนื่องด้วยพ่อรุ่นพี่แกเป็นชาวอำเภอบัวใหญ่ เขตจังหวัดนครราชสีมา แกจึงได้นำมะละกอพันธุ์ "แขกนวล" ติดตัวมาปลูกไว้รอบ ๆ บริเวณบ้าน ซึ่งพันธุ์แขกนวลนี้เป็นมะละกอที่คนอีสานนิยมนำมาใช้ในการทำส้มตำ เพราะมีความกรอบ รสชาติดี เหมาะแก่การนำมาทำส้มตำที่สุด ส้มตำจะอร่อยหรือไม่อร่อย ปัจจัยหลักอยู่ที่มะละกอที่นำมาตำนี่ล่ะครับ ร้านอาหารอีสานซึ่งเจ้าของร้านนั้นเป็นคนอีสาน ร้อยทั้งร้อยจะใช้มะละกอพันธุ์นี้มาตำส้มการสับมะละกอด้วยมือให้ออกมาเป็นเส้น ๆ เช่นกัน ก็ส่งผลให้ส้มตำนั้นออกมามีรสชาติที่อร่อย ซึ่งแตกต่างกับการใช้ที่ขูด (ในความรู้สึกของผม) เพราะเวลากดและขูดลงไป เส้นมะละกอจะช้ำและนิ่ม หากเปรียบเทียบกับการใช้มือสับแล้วล่ะก็ ความกรอบของเส้นมะละกอจะแตกต่างกันมากหลังจากได้เส้นมะละกอเป็นที่เรียบร้อย ก็เริ่มจากใส่กระเทียมและพริก (กี่เม็ดก็แล้วแต่ท่าน) ลงไปตำก่อนในครก ตามด้วยเส้นมะละกอ ถั่วฝักยาว ใส่น้ำปลา น้ำตาลปีบนิดหน่อย บีบมะนาว (จะเอาเปรี้ยวแค่ไหนก็สุดแท้แต่ท่านเช่นกัน) ตามด้วยน้ำปลาร้าสำเร็จรูป (ส่วนจะเป็นยี่ห้อไหนก็ตามแต่ท่านผู้อ่านนิยม ยุคนี้ศิลปิน ดารานิยมผลิตน้ำปลาร้ามาขายแข่งกันหลายเจ้า เวลาผมจะเลือกซื้อสักขวด ตาลายไปหมดเลย เลือกไม่ถูก ต้องใช้วิธีหลับตา หมุนตัวรอบหนึ่ง แล้วจิ้มเอา) ผงชูรสอีกเล็กน้อย ใช้ทัพพีช่วยในการคลุกเคล้าให้เข้ากัน ท้ายที่สุดก็ใส่มะเขือเทศสีดาลงไป ใช้ทัพพีเคล้าคนอีกพอประมาณโดยไม่ต้องตำอีก เพราะมะเขือเทศจะเละ เท่านี้ก็พร้อมเสิร์ฟเรียบร้อยไปอีกมื้อเที่ยง น่าเสียดายอยู่นิดหน่อยที่ไม่มีรูปปลาดุกย่างมาประกอบด้วย เนื่องจากเสียงส่วนใหญ่ลงมติว่า ส้มตำเยอะตั้งถาดนึง เก็บปลาดุกไว้ผัดเผ็ดตอนเย็นจะดีกว่า ส่วนมื้อเย็นจะออกมามีหน้าตาอย่างไรนั้น บทความต่อ ๆ ไป ก็คงมีให้นำเสนออีกอย่างแน่นอนครับ.คนเรา ไม่มีวันที่จะลืมและลบเลือนความทรงจำที่เลวร้ายไปได้ นอกเสียจากว่าจะแกล้งทำเป็นลืม ทำใจยอมรับมันซะ อยู่กับมันให้ได้ แล้วก้าวเดินต่อไปเพื่อแสวงหาสิ่งที่ดีกว่า 🙂 ภาพปกและภาพประกอบทั้งหมด โดย ผู้เขียน อัปเดตเมนูอาหารสุดแสนน่ากินอีกมากมายไปกับเรา โหลดเลยที่ App TrueID ฟรี !