กุ้งฝอยสามารถหากินได้ง่ายตามแหล่งน้ำ บ่อน้ำ โดยแหล่งน้ำต่างกันสีของกุ้งก็จะต่างกันไปด้วย เช่น ถ้าเราจับกุ้งจากบ่อน้ำในไร่นา หรือตามเขื่อนต่าง ๆ กุ้งจะมีสีขาวขุ่น แต่ถ้าเราไปจับกุ้งตามลำห้วยธรรมชาติ กุ้งจะมีสีดำแต่เวลานำไปคั่วให้สุกก็จะเปลี่ยนเป็นสีส้มชัดเจนมาก ซึ่งชาวอีสานชอบนำกุ้งฝอยมาประกอบอาหารหลากหลายเมนูด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือ แจ่วกุ้ง หรือทางภูมิภาคอื่น ๆ จะเรียกว่าตำกุ้งบ้าง ป่นกุ้งบ้าง ซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็มีวิธีการและส่วนประกอบที่แตกต่างกันไปด้วย ในบทความนี้ผมขอมาเสนอสูตรในการทำแจ่วกุ้งมะกอกหอม ในแบบฉบับของเผ่าผู้ไท จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งมีส่วนประกอบและขั้นตอนไม่ยุ่งยาก สามารถทำกินเองได้ง่าย ไปดูกันเลยครับผม ส่วนประกอบและเครื่องปรุง 1.กุ้งฝอยขาวครึ่งกิโลกรัม 2.ยอดผักติ้ว ไว้กินคู่กับแจ่วกุ้ง 3.น้ำปลาร้า 2 ช้อนโต๊ะ 4.ผงชูรสตามใจชอบ หรือจะไม่ใส่ก็ได้ 5.มะกอกสุก 2 ลูก 6.พริกป่น 1/4 ช้อนโต๊ะ 7.ข้าวคั่ว 1/2 ช้อนโต๊ะ 8.ต้นหอม ผักชี ผักแพว และสะระแหน่ เครดิตภาพ: ภาพโดยผู้เขียน ขั้นตอนการทำ 1.ล้างกุ้งฝอยให้สะอาด เหตุผลที่ผมนำกุ้งฝอยขาวมาทำ เพราะว่าหาง่ายและมีเยอะตามแหล่งน้ำทั่วไป 2.นำกุ้งฝอยที่สะอาดแล้วใส่ลงไปในครก พร้อมปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า พริกป่น ข้าวคั่ว ผงชูรส และมะกอก จากนั้นตำให้เข้ากัน แต่ไม่ต้องตำจนละเอียด ให้คงเหลือความเป็นกุ้งไว้เล็กน้อย 3.จากนั้นใส่ต้นหอม ผักชี ผักแพว และสะระแหน่สับลงไป แล้วตำเบา ๆ ให้ผักเข้ากันดีกับแจ่วกุ้ง เมื่อเข้ากันดีแล้วก็ชิมรส และตักเสิร์ฟได้เลย เป็นอย่างไรกันบ้างครับ สำหรับอาหารเมนูนี้ หลายคนอาจจะเคยทำกันมาบ้างแล้ว แต่วิธีการทำในแบบนี้ก็มีไม่เยอะ อย่างเช่นผมมาอยู่ที่โคราช ส่วนมากที่เขาทำกินกันจะเป็นก้อยกุ้งหรือกุ้งเต้นเป็นส่วนมาก แทบไม่มีเลยที่จะนำมาตำเป็นแจ่วกุ้งในแบบนี้ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่หลาย ๆ ท่านนะครับ เอาไปลองทำกินกันดูนะครับ อย่างน้อยก็เป็นอาหารที่ได้จากธรรมชาติใกล้บ้าน ลดการกินอาหารตลาดที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ Covid-19 ได้ง่าย บทความนี้ขอฝากไว้เพียงเท่านี้นะครับ สวัสดีครับ