พ่อแต่งลูกเติม เป็นการนำบทความเล่าเรื่องของคุณพ่อที่โพสต์ลงเฟสบุ๊ค มาเพิ่มเรื่องราวมากขึ้น เพื่อให้มีข้อมูลที่น่าสนใจ ซึ่งถือเป็นการ “เติม” จากสิ่งที่คุณพ่อ “แต่ง”มา ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับเห็ดเสม็ดคร่าว ๆ ก่อน เห็ดชนิดนี้มีสีน้ำตาลเข้มถึงเกือบดำ มีรสขม จึงนิยมนำ มาต้มก่อนรับประทาน โดยทั่วไปจะเกิดในป่าเสม็ด เรื่องเล่าจากคุณพ่อ เห็ดเสม็ดเมื่อก่อนจะเกิดตามป่าเสม็ดขาวที่มักขึ้นตามพื้นทีชำ ๆ แฉะ ๆ เสม็ดจะมีอยู่ ๒ ชนิด คือ เสม็ดแดง ที่ทางอีสานเรียก ผักเม็ก จะเอายอดมากินเป็นผักแนม เห็นมีอยู่ทั่วไป ยอดเขาสูงก็ยังมี สมัยเรียนมหาวิทยาลัย รุ่นพี่พาขึ้นภูกระดึงยังเก็บเอามากินกับยำปลากระป๋อง ส่วนเสม็ดขาวจะเห็นเฉพาะจังหวัดที่อยู่ติดทะเล เปลือกเสม็ดขาวจะเป็นชั้น ๆ ลอกออกมาเป็นแผ่นบาง ๆ สมัยก่อนจะเอาชุบน้ำมันยางทำขี้ไต้ เห็ดเสม็ดนอกจากขึ้นจากต้นเสม็ดขาวแล้ว ตามโคนต้นกระถินณรงค์ กระถินเทพา และยูคาลิปตัสก็ขึ้น สมัยก่อนหลังฝนตกลงมาพื้นดินมีความชื้น เดินไปตามริมสนามเห็นเห็ดชนิดนี้ขึ้นมา มองดูโดยรอบก็ไม่เห็นมีต้นเสม็ดเห็นแต่ต้นกระถินณรงค์ และตามใต้ต้นยูคา เลยลองเก็บมาแกงตามสูตรเมืองจันท์ (แกงกะทิ) หลังจากนั้นชาวบ้านชาวช่องก็พากันกินตามครูพเยาว์ จัดสรรเมนูต่าง ๆ ขึ้นมามากมาย ไม่อยากคุย น่าจะเป็นคนแรกที่พาคนอีสานกินเห็ดชนิดนี้ ต่อมาเรียกกันว่า เห็ดผึ้งขม เดี๋ยวนี้แย่งกันหาตามป่ายูคา ขายกันกิโลละหลายบาท กลับจันท์เที่ยวรอบนี้นอกจากได้ทุเรียนเป็นของฝากแล้ว ย่าก็เอาเห็ดเสม็ดของแท้ที่แช่แข็งไว้ให้เอากลับมาแกงที่บ้านด้วย โดยในวันนี้นำเสนอเมนู “แกงกะทิเห็ดเสม็ดใส่ยอดแต้ว” เป็นเมนูแกงกะทิที่สามารถทำตามได้ไม่ยาก มีวิธีการทำง่าย ๆ คือ ๑.ปอกมะพร้าว ขูด คั้นกะทิ ๒.ตั้งหม้อเคี่ยวกะทิกับพริกแกง จากนั้นจึงใส่หมูสับที่หลงเหลืออยู่ในตู้เย็นลงไป ๓.ใส่เห็ดเสม็ดกับยอดแต้ว ๔.ปรุงรสตามต้องการ จากนั้นเราจะได้แกงร้อน ๆ พร้อมรับประทานกับข้าวสวยร้อน ๆ ภาพถ่ายโดย คุณพ่อ