มีการคาดการณ์ว่ากว่า 97 เปอร์เซ็นต์ของครอบครัวชาวอเมริกันมักจะมีซอสมะเขือเทศติดไว้ที่บ้าน ถึงแม้ซอสมะเขือเทศจะไม่ใช่เครื่องปรุงที่เป็นไทยแท้ เป็นเพียงวิธีการรับเอาวัฒนธรรมการกินมาจากต่างประเทศอีกทีหนึ่ง แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเจ้าซอสสีแดงข้นนั้นเป็นหนึ่งในเครื่องปรุงที่เรามักจะมีอยู่ติดบ้านกันเสมอ ๆ ในทุกวันนี้ เพราะซอสมะเขือเทศเป็นเครื่องปรุงที่ทานกับอะไรก็อร่อย ใช้งานง่าย เด็ก ๆ ก็สามารถทานได้ ด้วยรสชาติหวานนิด ๆ เปรี้ยวหน่อย ๆ เมื่อคุณทอดไข่ดาวหรือไส้กรอกให้ลูก ๆ ของคุณในมื้อเช้า ซอสมะเขือเทศเพียงเล็กน้อยจะช่วยให้มื้อเช้านั้นผ่านไปอย่างง่ายดาย ภาพโดย steve johnson จาก unsplash เรามักจะคุ้นเคยกับซอสมะเขือเทศ ในรูปแบบภาษาอังกฤษสไตล์อเมริกันบ่อยครั้งว่า Tomato Ketchup แต่คุณรู้รึเปล่าว่าแท้จริงแล้วนั้นคำว่า Ketchup นั้นมาจากภาษาจีนฮกเกี้ยน ที่อยู่ห่างกันคนละซีกโลก คำว่า kê-tsiap เป็นภาษาฮกเกี้ยนที่หมายถึงน้ำปลาหมัก ปลายศตวรรษที่ 17 และต้นศตวรรษที่ 18 ชาวอังกฤษที่ผ่านไปในเมืองจีนพยายามที่จะเอาน้ำปลาหมักจากจีนนี้กลับบ้าน โดยพบจากบันทึกที่ชื่อว่า Ketchup in Paste ของ Richard Bradley ที่มีการกล่าวถึงสูตรอาหารที่ใช้ส่วนผสมของซอสน้ำปลา kê-tsiap จากเมืองจีน แต่แน่นอนว่าคำเรียกนี้ยังห่างไกลจากซอสมะเขือเทศในปัจจุบันมากนัก เพราะซอสชนิดนี้อาจทำมาจากปลาหรือหอยนางรม โดยซอสมีสีออกดำคล้ำและเนื้อเหลวเบาไม่ข้น ภาพโดย miguel andrade จาก unsplash ต่อมาสูตรซอสมะเขือเทศที่ดูจะคล้ายคลึงกับซอสมะเขือเทศในปัจจุบันนั้นถูกตีพิมพ์ครั้งแรก ในปี 1812 จาก James Mease ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์และนักพืชสวนผู้ซึ่งอ้างถึงเครื่องปรุงรสจากมะเขือเทศ ในสูตรนั้นของเขามีเนื้อมะเขือเทศ เครื่องเทศ และบรั่นดี ขาดแต่น้ำส้มสายชูรวมถึงน้ำตาล สูตรมะเขือเทศเริ่มมีความแพร่หลายมากขึ้นไปทั่วยุโรปและอเมริกา แต่ด้วยความที่มันผลิตจากมะเขือเทศสดและกระบวนการผลิตยังไม่ดีเท่าที่ควรนัก ซอสมะเขือเทศเหล่านี้มักจะเสียง่าย ผู้ผลิตจึงมักจะเติมน้ำมันถ่านหินเพื่อให้ได้สีแดงสด รวมถึงยังเติมโซเดียมเบนโซเอตซึ่งเป็นสารกันบูดลงไปด้วย ซึ่งแน่นอนว่าทั้งสองสิ่งนี้เป็นสิ่งแปลกปลอมและไม่เหมาะกับสุขภาพของผู้บริโภค ภาพโดย erik mclean จาก unsplash ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 โซเดียมเบนโซเอตถูกมองว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์เป็นอย่างมาก ดร. ฮาร์วีย์ วอชิงตัน ไวลีย์ Dr. Harvey Washington Wiley ยืนยันว่าการใช้สารกันบูดเหล่านี้ในซอสมะเขือเทศนั้นไม่จำเป็นเลย ถ้าหากส่วนผสมที่นำมาทำซอสนั้นมีคุณภาพสูง และมีวิธีการจัดการที่เหมาะสม ภาพโดย matt popovich จาก unsplash ดร. ฮาวีย์ จึงได้ร่วมมือกับชายคนหนึ่งชื่อ พิตส์เบิร์ก เฮนรี่เจ. ไฮนซ์ Pittsburgh Henry J. Heinz โดยทั้งคู่ได้คิดสูตรและลงมือผลิตซอสมะเขือเทศในปีค.ศ.1869. สูตรที่พัฒนาขึ้นมาในครั้งนี้มีการใช้มะเขือเทศสุกซึ่งมีสารกันบูดตามธรรมชาติมากและมะเขือเทศสุกยังให้สารเพกตินมากกว่าที่ผู้ผลิตรายอื่นใช้ รวมถึงมีการเพิ่มปริมาณน้ำส้มสายชูเพื่อช่วยในเรื่องของรสชาติและลดความเสี่ยงต่อการเน่าเสีย เมื่อซอสมะเขือเทศ หรือ Tomato Ketchup ยี่ห้อไฮนซ์ถูกปล่อยสู่ตลาด ก็เป็นที่ถูกอกถูกใจชาวอเมริกันเป็นอย่างมาก ทั้งในแง่ของรสชาติและการเก็บไว้ได้นาน ไม่นานไฮนซ์ก็ได้ครอบครองตลาดซอสมะเขือเทศ หลังจากนั้นก็มีผู้ผลิตอีกรายหลายพัฒนาสูตรซอสมะเขือเทศของตนเองออกมาสู่ตลาดอยู่เรื่อย ๆ ซอสมะเขือเทศจึงกลายเป็นเครื่องปรุงประจำบ้านนับแต่นั้นเป็นต้นมา *ภาพหน้าปกโดย pedro ribeiro จาก unsplash