สวัสดีค่ะ ถึงเวลาอาหารกลางวันก็เริ่มนึกอยากกินอะไรแซบ ๆ ให้ตาสว่างสักหน่อย หันซ้ายหันขวาไปเจอกับต้นมะละกอลูกกำลังดก เลยเด็ดมาสักลูกทำส้มตำกินกันดีกว่า แต่ขอบอกเลยนะคะว่าสูตรแบบอีสานแท้ ๆ นั้น ปลาร้าต้องเป็นตัว ผงนัว (ผงชูรส) ต้องถึง วัตถุดิบมีดังนี้ค่ะ ภาพถ่ายโดยนักเขียน 1. มะละกอสับเป็นเส้น (แนะนำให้นำไปแช่น้ำแข็งก่อนตำนะคะ เส้นมะละกอจะได้กรอบเด้ง) 2. พริกแดงจินดา มะนาว มะเขือเทศลูกเล็ก 3. ผักอื่น ๆ สามารถเลือกใส่ได้ตามใจชอบ เช่น มะเขือเปราะ ผักชีฝรั่ง ใบกระเทียม มะกอก ถั่วฝักยาว เมล็ดกระถิน (ใส่หรือไม่ใส่ก็ได้) 4. น้ำตาลปี๊บหรือน้ำตาลทราย น้ำปลา ผงชูรส ปลาร้าปรุงสำเร็จ ปลาร้าต่วง (ปลาร้าที่เพิ่งตักออกจากโหลหมัก มีเนื้อปลาเป็นตัว ๆ ) 5. ปูนาดองน้ำปลา ภาพถ่ายโดยนักเขียน วิธีการทำก็ไม่ยากเลยค่ะ เตรียมครกกับสากให้พร้อม หยิบพริกลงไปตำกับเส้นมะละกอหนึ่งหยิบมือ ความเผ็ดสามารถเลือกระดับได้ตามใจชอบนะคะ ตำให้พริกบุบ (ระวังพริกกระเด็นเข้าตา) หลังจากนั้นหั่นมะเขือเทศสัก 3 – 4 ลูกลงไปตำ ตามด้วยมะนาวซีก ตำและใช้ช้อนคลุกเคล้าให้เข้ากัน หลังจากนั้นใส่เส้นมะละกอลงไป ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จสัก 2 ช้อนแกง ใส่น้ำปลาลงไปเล็กน้อยพอมีกลิ่นหอม ตามด้วยน้ำตาลเล็กน้อย สำหรับคนที่ไม่ชอบหวานก็ไม่ต้องใส่น้ำตาลนะคะ ภาพถ่ายโดยนักเขียน ขั้นตอนนี้ขาดไม่ได้ คือการใส่ผงชูรสสักหน่อยเพื่อเพิ่มความนัว ใครไม่ทานผงชูรสสามารถข้ามขั้นตอนนี้ไปได้เลยค่ะ ภาพถ่ายโดยนักเขียน มาถึงทีเด็ดของเรา ตักปลาร้าสักตัวจากโหลใส่ลงไปในครกด้วย น้ำลายสอเลยค่ะ แล้วตามด้วยปูดองนะคะ ภาพถ่ายโดยนักเขียน ภาพถ่ายโดยนักเขียน ตำและคลุกเคล้าให้เข้ากัน ชิมรสดูสักนิด ถ้าขาดรสอะไรก็เติมได้ตามใจชอบเลยนะคะ ตักใส่จานพร้อมทานกับข้าวเหนียว ไก่ย่าง เห็นแล้วน้ำลายไหล ภาพถ่ายโดยนักเขียน ผู้เขียนชื่นชอบรสชาติของปลาร้าต่วงเพราะมีรสเค็มลึก ปลาที่นำมาหมักมักจะเป็นปลากระดี่ตัวเล็ก ๆ จึงสามารถทานได้ทั้งตัว ไม่ต้องระวังก้างปลาติดคอ บางคนอาจจะร้องยี๋ ไม่กล้าทาน เพราะปลาไม่สุก แต่บอกเลยนะคะ ได้ลองคำหนึ่งแล้วจะติดใจ ทั้งนี้ทั้งนั้นควรเลือกทานปลาร้าที่สะอาด บรรจุในภาชนะที่ปิดมิดชิด หากปลาร้ามีหนอนขึ้นอย่านำมาทานเด็ดขาดนะคะ เดี๋ยวจะท้องเสียเอาได้ วันหลังผู้เขียนจะนำวิธีทำอาหารบ้าน ๆ แต่อร่อยแบบภัตตาคารมารีวิวให้ชมกันอีก ฝากติดตามด้วยนะคะ รูปภาพปกโดยผู้เขียน