"วุ้นเส้น" อาหารเส้นยาวสีใสที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีโดยเฉพาะในแถบเอเชียของเราที่มีเมนูจากวุ้นเส้นให้เลือกกินเยอะแยะมากมายไม่ว่าจะเป็นยำวุ้นเส้น ผัดวุ้นเส้น กุ้งอบวุ้นเส้น หรือการเอาวุ้นเส้นมากินแทนเส้นต่างๆ ในเมนูก๋วยเตี๋ยว ราดหน้า ผัดหมี่ต่างๆ ก็น่าสนใจไม่น้อย นอกไปจากรสชาตินุ่มหนึบกินอร่อยแล้วนั้นวุ้นเส้นยังเป็นทางเลือกที่หลายๆ คนเชื่อว่าดีต่อสุขภาพมากกว่าเมื่อเทียบกับเส้นแป้งทั่วๆ ไปอีกด้วย วันนี้เราเลยอยากขอชวนเพื่อนๆ มาทำความรู้จักกับวุ้นเส้นกันแบบชัดๆ อีกครั้ง จะมีข้อมูลอะไรที่น่าสนใจเกี่ยวกับวุ้นเส้นบ้างนั้นมาดูกันได้เลยค่ะ 1.วุ้นเส้นทำมาจากถั่วเขียวเห็นเส้นสีใสๆ แบบนี้ก็แทบไม่อยากจะเชื่อเลยเชียวว่าวุ้นเส้นทำมาจากถั่วเขียว โดยกรรมวิธีการผลิตคือการนำเอาเมล็ดถั่วเขียวมาโม่จนกลายเป็นผงจากนั้นจึงนำไปผ่านกระบวนการเพื่อทำให้เกิดการตกตะกอนและคัดเอาเฉพาะส่วนของน้ำแป้งถั่วเขียวมาใช้เพื่อผลิตเป็นวุ้นเส้นเป็นการต่อไป โดยจะสกัดจนได้มาซึ่งผงแป้งถั่วเขียวเข้มข้นก่อนที่จะเอามานวดผสมเข้ากับน้ำเพื่อทำเป็นวุ้นเส้น 2.วุ้นเส้นไม่ได้เป็นแหล่งของโปรตีนอย่างที่เข้าใจพอเรารู้ว่าวุ้นเส้นทำมาจากเมล็ดถั่วเขียว สิ่งถัดมาที่คนส่วนใหญ่เข้าใจคือ วุ้นเส้นจะต้องเป็นแหล่งของโปรตีนเพราะในพืชตระกูลถั่วเป็นแหล่งของโปรตีน แต่ความเป็นจริงแล้วนั้นส่วนของโปรตีนและไขมันที่พบในถั่วเขียวจะถูกแยกออกไปตั้งแต่ขั้นตอนแรกๆ ของกระบวนการทำวุ้นเส้นทำให้ในวุ้นเส้นมีปริมาณโปรตีนเหลืออยู่น้อยมาก โดยในวุ้นเส้น (แบบแห้ง) 100 กรัม พบโปรตีนแค่เพียง 0.2 กรัมเท่านั้น 3.วุ้นเส้น เป็นอาหารโปรตีนต่ำที่ดีกับผู้ป่วยโรคไตสืบเนื่องจากข้อที่ 2 นั่นเองค่ะ เพราะวุ้นเส้นเป็นอาหารที่มีโปรตีนน้อยมากและจัดอยู่ในกลุ่มของอาหารที่ปลอดโปรตีน วุ้นเส้นจึงเป็นอาหารที่มีความปลอดภัยต่อผู้ป่วยโรคไตทั้งในระยะเริ่มต้นและในระยะเรื้อรังที่ต้องระมัดระวังเกี่ยวกับการกินโปรตีนมากเป็นพิเศษ เช่น เมนูผัดวุ้นเส้นกะหล่ำปลี แกงจืดวุ้นเส้น 4.วุ้นเส้นต้องล้างให้สะอาดก่อนปรุงเสมอหลายๆ คนอาจจะเอาวุ้นเส้นที่ฉีกออกจากซองไปใส่ในเมนูอาหารโดยตรง (ตอนแรกเราก็ทำแบบนั้นเหมือนกันค่ะ) จุดนี้เป็นเพราะในกรรมวิธีการผลิตวุ้นเส้นมีการเติมสารซัลไฟต์ (Sulfite) เข้าไปด้วยเพื่อช่วยยืดอายุของวุ้นเส้นให้อยู่ได้นานมากขึ้น ช่วยป้องกันการเกิดปัญหามีกลิ่นเหม็นหืน ดังนั้นถ้าเราเอาวุ้นเส้นที่ยังไม่ได้ล้างมาต้มยำทำแกงต่างๆ เลยก็มีโอกาสที่จะทำให้เกิดการตกค้างสะสมของสารชนิดนี้ในร่างกายของเราได้นั่นเอง ทั้งนี้ที่หลังบรรจุภัณฑ์ของวุ้นเส้นก็แนะนำให้ล้างวุ้นเส้นให้สะอาดก่อนนำไปปรุงอาหารเช่นเดียวกันค่ะ ส่วนวิธีการล้างก็ล้างด้วยการเปิดน้ำสะอาดไหลผ่านหรือจะเอามาลวกแล้วเทน้ำทิ้งไปก่อนก็ได้เพียงเท่านี้เราก็จะกินวุ้นเส้นได้อย่างปลอดภัยแล้ว ที่อยากฝากไว้เลยก็คือเวลาที่เรากินพวกสุกี้ ชาบู แล้วกินวุ้นเส้นด้วยควรดูให้แน่ใจว่าร้านเขาล้างวุ้นเส้นมาแล้วหรือยัง 5.วุ้นเส้นมีแคลอรีน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเส้นชนิดอื่นๆพอเราคิดถึงเมนูเส้นๆ ที่กินในช่วงที่ต้องการลดความอ้วนก็มักจะคิดถึงการกินวุ้นเส้นเป็นอันดับแรกๆ อย่างเช่น สุกี้หมูวุ้นเส้น ก๋วยเตี๋ยววุ้นเส้น ผัดวุ้นเส้น ซึ่งนั่นก็เป็นความจริงที่ว่าวุ้นเส้นมีปริมาณแคลอรีน้อยกว่าเส้นชนิดอื่นๆ โดยในวุ้นเส้น (แบบแช่น้ำ) 100 กรัม ให้พลังงาน 180 kcal ในขณะที่เส้นใหญ่ 100 กรัมให้พลังงาน 220 kcal เส้นบะหมี่ 100 กรัมให้พลังงานมากถึง 280 kcal 6.กินวุ้นเส้นเยอะอาจทำให้อ้วนได้เหมือนกันนะ แต่ก็ต้องระวังเหมือนกันค่ะสำหรับคนที่ต้องการกินวุ้นเส้นเพื่อลดน้ำหนักเพราะถ้าหากเรากินเยอะเกินไปก็ยังทำให้อ้วนได้เหมือนกันเพราะในวุ้นเส้นมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตค่อนข้างสูง โดยในวุ้นเส้น (แบบแห้ง) 100 กรัม มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตมากถึง 80 กรัมเลยทีเดียวค่ะ ดังนั้นถ้าต้องการเมนูเส้นที่ดีต่อการลดน้ำหนักเราแนะนำเป็นเส้นบุก เส้นแก้ว จะช่วยลดปริมาณแคลอรีได้ดีกว่า และนี่ก็เป็น 6 ข้อน่ารู้เกี่ยวกับวุ้นเส้นที่หลายๆ คนอาจจะไม่เคยรู้มาก่อน สิ่งที่อยากฝากไว้เลยก็คือก่อนกินวุ้นเส้นควรล้างให้สะอาดเสมอ กินวุ้นเส้นแต่พอประมาณเพราะวุ้นเส้นมีคาร์โบไฮเดรตแฝงอยู่เยอะหากกินมากเกินไปก็อาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้ ภาพหน้าปก ภาพที่1 โดย Marika- จาก canvaภาพในเนื้อหาทั้งหมด โดย ผู้เขียน หิวใช่ไหม อยากหาของกินอร่อย ๆ ใช่หรือเปล่า ส่องร้านเด็ดร้านดังได้ที่ App TrueID โหลดฟรี !