ถั่วงอก คือ ต้นอ่อนที่งอกออกมาจากเมล็ดถั่วชนิดต่าง ๆ เช่น ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วดำ เป็นต้น ซึ่งเป็นผักที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และให้คุณค่าทางอาหารสูง เนื่องจากมีโปรตีน ใยอาหาร ธาตุเหล็ก วิตามินบี วิตามินซี และยังมีแคลต่ำอีกด้วย ถั่วงอกมักจะนิยมนำมากินกับอาหารประเภทเส้น เช่น ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ ขนมจีนน้ำยา ต้มเส้น หรือผัดไทย เป็นต้น หรือจะนำมาทำอาหารเป็นผัดถั่วงอกทานก็ได้ จะเห็นได้ว่า ถั่วงอกนั้นสามารถรับประทานได้ง่าย และหาซื้อได้ง่ายเช่นกัน อีกทั้งการเพาะถั่วงอกนั้นก็ไม่ยากเลย เราสามารถเพาะกินเองได้ โดยใช้อุปกรณ์ที่หาได้ภายในบ้าน และใช้เวลาเพียงไม่กี่วัน ซึ่งการเพาะก็มีวิธีการที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ที่ใช้ และวันนี้เราก็จะมาแบ่งปันวิธีการเพาะถั่วงอกง่าย ๆ โดยใช้ตะกร้ามาให้ทุกคนลองทำตามกันดูค่ะ อุปกรณ์ในการเพาะถั่วงอก มีดังนี้ เมล็ดถั่วเขียว ตะกร้าทรงสี่เหลี่ยมขนาดตามต้องการ ผ้าขาวบางหรือเสื้อยืด 2 ผืน ตาข่ายหรือมุ้งเขียว ถุงดำ หรือถุงที่สามารถคลุมตะกร้าได้ ขั้นตอนในการเพาะถั่วงอก 1. น้ำเมล็ดถั่วเขียวไปแช่ในน้ำอุ่น แล้วทิ้งเอาไว้ประมาณ 6 - 8 ชั่วโมง ซึ่งเมื่อแช่แล้วจะเห็นว่าเมล็ดถั่วจะโตขึ้น พร้อมที่จะงอก 2. นำผ้าขาวหรือเสื้อยืดขนาดเท่ากับพื้นของก้นตะกร้ามาชุบน้ำให้เปียก แล้ววางรองลงไปที่ก้นตะกร้า โดยไม่ต้องบิดน้ำออก 3. นำตาข่ายหรือมุ้งเขียวมาวางรองด้านบนผ้า 4. นำเมล็ดถั่วเขียวที่เตรียมไว้มาล้างน้ำ แล้ววางโรยลงไปบนตาข่าย ให้กระจายตัว ไม่ทับซ้อนกัน 5. นำผ้าหรือเสื้อยืดอีก 1 ผืน มาชุบน้ำให้เปียก แล้ววางทับลงไปบนเมล็ดถั่วเขียวอีกชั้นหนึ่ง 6. นำตะกร้าใส่เข้าไปในถุงดำ แล้วปิดปากถุง หรือนำถุงที่เตรียมเอาไว้มาคลุมตะกร้าเอาไว้ให้มิดชิด 7. นำไปไว้ในที่มืด แสงส่องไม่ถึง และอุณหภูมิไม่ร้อนจัด 8. เปิดถุงเพื่อรดน้ำทุก 4 - 6 ชั่วโมง โดยรดลงไปบนผ้าที่คลุมอยู่ด้านบนสุดได้เลย รดให้เปียกชุ่มเหมือนครั้งแรกที่เพาะ 10. เมื่อครบ 3 วัน ถั่วก็จะงอกพร้อมทานแล้ว ให้นำออกมาจากตะกร้าได้เลย โดยรากของถั่วจะติดอยู่กับตาข่าย สามารถตัดรากที่อยู่ด้านล่างออกก่อนได้ หรือหากไม่ตัดก็สามารถดึงออกมาได้เลย 11. นำถั่วงอกที่ได้มาล้างเอากากของเมล็ดถั่วออก ก็จะได้ถั่วงอกที่พร้อมทานแล้ว ปัจจัยที่มีผลต่อการงอกของถั่ว คือ 1. เมล็ดพันธุ์ ควรใช้เมล็ดถั่วที่สมบูรณ์ มีเปอร์เซ็นต์ในการงอกสูง เพราะหากเมล็ดพันธุ์ไม่สมบูรณ์ ถั่วก็จะงอกได้ไม่ดี 2. แสงและอุณหภูมิ ควรนำไปไว้ในสถานที่ที่มืด แสงส่องไม่ถึง และอุณหภูมิไม่ร้อนจัด เนื่องจากความร้อนจะมีผลต่อการงอกของถั่ว การควบคุมแสงและอุณหภูมิจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ 3. น้ำ ก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญเช่นกัน เพราะจะเป็นตัวช่วยให้ความเย็นและความชุ่มชื้นแก่เมล็ดถั่ว การรดน้ำบ่อย ๆ ก็เพื่อไม่ให้เกิดความร้อนขึ้นในตะกร้าเพาะ ซึ่งจะทำให้ถั่วงอกได้ไม่ดีนั่นเอง เป็นยังไงกันบ้างคะ สำหรับการเพาะถั่วงอกในตะกร้า ง่ายเหมือนกับที่บอกไปหรือเปล่า จะเห็นได้ว่าใช้อุปกรณ์เพียงไม่กี่อย่างเอง ซึ่งสามารถดัดแปลงสิ่งที่มีอยู่ภายในบ้านมาใช้ได้ เพียงแค่ทราบหลักในการเพาะ แถมยังใช้เวลาน้อย เพียงแค่ 3 วัน ก็สามารถนำมาทานได้แล้ว ใครที่ชอบทานถั่วงอก หรืออยากจะลองเพาะดู ก็ทำตามวิธีนี้กันได้นะคะ ง่ายนิดเดียว (ภาพประกอบทั้งหมดโดย : ผู้เขียน)