"คะเจ้าเป็นคนเมืองเหนือฮู้จักมะแขว่นตั้งแต่ละอ่อน" วันนี้ผู้เขียนจะพาทุกท่านไปรู้จักเครื่องเทศชนิดหนึ่ง ชื่อว่า มะแขว่น ชาวเหนือหลายจังหวัดรู้จักกันเป็นอย่างดี โซนเหนือคือจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยาเป็นเครื่องเทศที่ใช้แทนพริกไทยดำ บางจังหวัดอาจจะไม่รู้จักเครื่องเทศชนิดนี้ค่ะ หากพูดถึงชื่อนี้ อาจจะร้องห๊ะ อะไรน้า ไม่รู้จัก แต่ไม่เป็นไรค่ะ วันนี้หากหลายท่านได้อ่านบทความนี้จะทราบเรื่องของมะแข่วนมากยิ่งขึ้น ลำต้นมะแขว่น ขอบคุณรูปภาพจาก : ผู้เขียน แรกเริ่มเดิมทีของการเดินทางมาภาคเหนือของไม่ยืนต้นชนิดนี้นั้นมีคนไทยนำเมล็ดมาเพาะที่จังหวัดพะเยา จึงกลายเป็นพันธุ์ใหม่ แต่ต้นกำเนิดมาจากไต้หวัน แต่ของเมืองน่านเป็นพันธุ์พื้นเมืองที่มีชื่อเสียงดีอยู่แล้ว สามารถเจริญเติบโตได้ในป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา เป็นไม้ยืนต้นสูง 5-10 เมตร ลักษณะลำต้นมีอาวุธรอบตัว !!! เพราะมีหนามรอบลำต้นเลยค่ะ เห็นพ่อปลูกมาตั้งแต่เด็ก ๆ ราคาขายกิโลกรัมละตั้ง 100-150 บาท ทำเอาชาวสวนมีอยู่มีกินจากการขายพืชชนิดนี้มาก แต่ปัจจุบันราคาดิ่งลงมากค่ะ มะแขว่นดิบราคาประมาณ 20-35 บาท มะแข่วนแห้งน้ำหนักจะหายไปเยอะมาก กิโลกรัมละ 100 บาท หลังจากปลูกแล้วเวลาผ่านไปสักสามปีจะเริ่มติดผล แล้วเก็บผลไปเรื่อย ๆ ทุก ๆ ปี เน้นการตัดหญ้าทุกปี แทปจะไม่ได้ใช้สารเคมีในการดูแลเลยค่ะ ไม่ได้พ่นยา แต่อาศัยภูมิประเทศและอากาศชื้นเย็นสบายเติมโตได้เอง เพราะเวลาออกผล แมลงก่ไม่มาแย่งกิน เพราะมีกลิ่นฉุน และเผ็ดร้อน เป็นไม้ยืนต้นจะอยู่ได้ประมาณ 20 ปี แล้วต้นก็จะเริ่มเหี่ยวตายในที่สุด หรือไม่ก็ออกผลน้อยลง ต้องตัดทิ้งแล้วปลูกใหม่ ส่วนฤดูเก็บเกี่ยวของมะแขว่นคือช่วงต้นฤดูหนาวประมาณเดือนตุลาคมเริ่มเลยค่ะ เก็บเกี่ยวจนกว่าผลมะแขว่นหมดฤดู หากผลแก่จนเกินไปจะร่วงลงจากช่อไปหมด ขายไม่ได้แล้วค่ะ ผลมีขนาดเล็กขนาดเท่าลูกพริกไทย ผลดิบมีสีเขียวและเมื่อแก่จะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีอมแดง ผลดิบสีเขียวสามารถเอามาตำน้ำพริกได้ หรือดองน้ำปลากินกับลาบก็ได้ ส่วนผลแก่จะนำมาตากแห้งเก็บไว้ใช้เป็นเครื่องเทศปรุงรสได้นานเป็นปี แต่ถ้าผลใหม่จะมีความหอมมากกว่ามะแขว่นที่เก็บไว้นาน ๆ หลายปี ผลอ่อนมะแขว่น รสชาติของ มะแข่วน คือ มีกลิ่นหอมฉุน มีรสเผ็ดร้อนเล็กน้อย ความเผ็ดชา หอมแรง และหอมนาน เมื่อใช้ปรุงอาหารทำให้เผ็ดและชาลิ้น ซึ่งคนเหนือเรียกว่า "เด้าลิ้น" ได้มากกว่ามะแขว่นที่อื่นๆ เป็นรสสัมผัสปร่าลิ้นเช่นเดียวกับการกินพริกหม่าล่าของจีนยูนนานเพราะเป็นพืชในตระกูลใกล้เคียงกัน ผลสุกมะแขว่น หลังตากแห้ง ขอบคุณรูปภาพจาก : ผู้เขียน อาหารของคนเหนือจะขาดมะแขว่นไปไม่ได้เลยค่ะ นำเมล็ดไปคั่วไฟอ่อน ๆ ให้มีกลิ่นหอมออกจากตัวเมล็ดแล้วนำมาใส่ในลาบหมู หลู้ ส้า ยำจิ๊นไก่ แกงผักกาด น้ำพริกมะแขว่น และไก่ทอดมะแขว่น หรือบางท่านนำเมล็ดมาตำแล้วนำมาปรุงกับอาหารได้เลยไม่ต้องนำไปคั่วไฟ แล้วแต่ความชอบของแต่ละท่านที่ทานค่ะ หากหลายท่านได้ลองรับประทานแล้วจะรับรู้ได้ถึงลิ้นชา บางคนถึงกับน้ำตาไหลพราก เพราะความเผ็ดร้อนที่ออกมาจากผลมะแข่วน มาเริ่มกันที่ลาบหมู ตั้งแต่ยังเด็กเมนูลาบเป็นอาหารมื้อพิเศษ ไม่ได้ทำกินกันบ่อย ๆ ยกเว้นมีโอกาสสำคัญเทสกาลปีใหม่ สงกรานต์ หรืองานบุญงานพิเศษถึงจะทำขึ้น เพราะชาวบ้านต้องล้มหมู ล้มควาย เพื่อนำเนื้อมาทำลาบ แต่ปัจจุบันยุคสมัยเปลี่ยนไปมากสามารถหาซื้อกันได้ง่ายและทำกินกันได้บ่อยขึ้น การนำมะแข่วนมาผสมกับตัวลาบนั้นต้องนำมาตำให้ละเอียดแล้วนำไปคั่วไฟอ่อน ๆ แล้วค่อยนำมาผสมกับส่วนผสมอย่างอื่นเช่น หอม กระเทียม ใบมะกรูดซอย ตะไคร้ซอย เครื่องในทอดกรอบ พริกแห้ง เนื่อหมูสับละเอียดบางคนชอบกินลาบดิบ บางคนชอบกินสุก แต่เพื่อความปลอดภัยและถูกสุขอนามัยควรปรุงให้สุกค่ะ ลาบหมูสุก ขอบคุณรูปภาพจาก : ผู้เขียน นอกจากนำมาปรุงอาหารเพื่อให้ได้อรรถรสให้ร้อนแรงมากยิ่งขึ้น ยังช่วยขับลมในระบบลำไส้ บำรุงหัวใจ ช่วยให้ระบบการไหลเวียนเลือดทำงานได้ดีขึ้น เป็นยังไงกันบ้างค่ะทุกท่านหลังจากได้ฟังเรื่องราวของไม้ยืนต้นที่มีอาวุธรอบตัวแล้วยังมีประโยชน์มากมายหลายอย่างให้ หากหลายท่านมีโอกาสมาท่องเที่ยวเมืองน่าน อย่าลืมมาแวะทานอาหารของหมู่เฮาจาวเหนือที่ยังคงมีกลิ่นอายความเป็นดั้งเดิมกันนะคะ ไว้จะมาเล่าเรื่องของกิ๋นเมืองให้ฟังใหม่นะจ้าว ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.technologychaoban.com/