(Credit : Cover Photo by Szabo Viktor on Unsplash) ขึ้นชื่อว่า “จังค์ฟู้ด” คงไม่ต้องบอกนะว่ามันอร่อยขนาดไหน แต่เด็กอนุบาลก็ยังบอกได้ว่ามันทำร้ายสุขภาพ ฉันน่ะแพ้ “ไก่ทอด” ทั้ง ๆ ที่รู้ว่ามันไม่มีอะไรดี เห็นแล้วอดไม่ได้ ต่อให้รู้ว่ากินของทอดของมันแล้วความดันสูง แต่ก็ยังดัน(ทุรัง)สูงที่จะกิน รู้ทั้งรู้ว่าอาหารที่ไม่มีประโยชน์ (แต่อร่อย) พาเราไปรู้จักกับโรคร้ายอย่าง โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันเลือดสูง และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่ทำไมนะทำไม เราถึงตัดใจจากมันไม่ได้สักที! Photo by Brian Chan on Unsplash ดูสิแค่พูดก็อยากจัดสักชิ้นขึ้นมาเสียแล้ว เรื่องนี้ไสยศาสตร์ช่วยไม่ได้ เห็นทีต้องพึ่งวิทยาศาสตร์ให้ไขความลับให้หน่อย ว่าทำไมเห็น “จังค์ฟู้ด” แล้ว น้ำลายเราถึงไหลย้อย รู้ว่ามันไม่ดีแต่ก็แพ้ทางมันทุกทีเลย เหล่านักวิทยาศาสตร์อาหารก็คงสงสัยเหมือนฉันว่า ทำไมนะทำไม เราถึงตัดใจจากอาหารพวกนี้ไม่สำเร็จ คุณสตีเวน วิทเธอลีย์ จึงยอมทุ่มเทใช้เวลาศึกษาเรื่องนี้ถึง 20 ปี จนเกิดเป็นงานวิจัยชื่อ “ทำไมมนุษย์หลงรักอาหารขยะ” (Why Humans Like Junk Food) คุณวิทเธอลีย์ค้นพบว่า เมื่อเรากินอาหารอร่อยลิ้นถูกปาก มีสองปัจจัยที่ทำให้ประสบการณ์นั้นตรึงแน่นPhoto by skeeze on Pixabay หนึ่ง : การรับรสขณะกินอาหารนั้น (แซ่บ / เค็ม / หวาน / นัว) ความรู้สึกที่อวลอยู่ในปาก เรียกว่า “orosensation” ซึ่งสำคัญเอามากๆ สำหรับการสร้างประสบการณ์ (ตะกละ) ฝังลึก เหล่าธุรกิจอาหารทั้งหลายรู้ความลับเรื่องนี้ดี ถึงกับทุ่มเงินนับล้านๆ ดอลล่าร์เพื่อหาว่า ความกรุบกรอบระดับไหนกัน ที่ทำให้คนกินตกเป็นทาสมันฝรั่งแผ่นทอด และต้องซาบซ่าขนาดไหนที่ทำให้เราโหยหาน้ำอัดลมไม่เลิก งานของพวกเขาคือพยายามค้นให้เจอ ว่าต้องผลิตอาหารรสชาติไหน มันถึงถูกบันทึกในสมองคุณตอนกินได้ว่า “โอ้โห นี่มันอร่อยโคด” สอง : ส่วนประกอบที่ลงตัวของอาหาร (เกลือ / น้ำตาล / ไขมัน / ผงปรุงรส) เช่นกันที่เหล่าธุรกิจอาหารทุ่มเทเพื่อปรับสูตรให้สมบูรณ์แบบ มันต้องใส่อะไรแค่ไหนถึงจะสร้างความตื่นเต้นให้ลิ้น ส่งผ่านไปสู่สมองคุณให้จำความรู้สึก “ฟิน” ได้ จะได้กลับมาซื้ออีกครั้ง และอีกครั้ง Photo by ID 41330 on Pixabay ที่แท้ไอ้ที่ฉันโหยหาอยากแทะไก่ คุณอยากกินเฟรนช์ฟราย และใครต่อใครอยากดื่มน้ำอัดลมไซส์ยักษ์ มันอาจเกิดจากอารมณ์ฝังจำ จากรสชาติที่ถูกสร้างมาอย่างแยบยลนี่เอง ด้วยความชาญฉลาดระดับอัจฉริยะ อาหารขยะยังถูกสร้างสรรค์มาให้เราหลงหัวปัก เราเลิกรักมันไม่ได้เพราะเขาคิดมาให้แล้ว นี่คือลักษณะเด็ดที่ทำให้เราเสพติด เสพแล้วอยากเสพอีกแบบไม่รู้ตัว 1) มีรสชาติที่ตัดกัน โดยเฉพาะอะไรที่ตรงข้ามกัน เช่น “กรอบนอกนุ่มใน” 2) ให้ความรู้สึกฟินในปาก หากทำให้ส่วนผสมเยิ้มอยู่ในปากได้ ยิ่งกระตุ้นต่อมรสชาติให้ทำงาน อาหารประเภทหวานนุ่มชุ่มมัน อย่าง เนย ชีส ช็อคโกแลต น้ำสลัด ไอศกรีม มักสร้างความรู้สึกดีขณะที่เวียนว่ายบนลิ้น ส่งสัญญานฟินให้สมองอย่างที่ผัดผักหรือแกงเลียงทำไม่ได้ 3) ละลายในปาก ยิ่งละลายในปากง่าย ทำให้ยิ่งอยากกินเพิ่ม ลิ้นจะส่งสัญญาณบอกสมองว่าเรายังไม่อิ่ม ผลคือกินไม่รู้จักพอ “น้องเอาอันนี้อีกที่” “พี่เอาอันนิ้อีกชิ้นครับ” Photo by Angelos Michalopoulos on Unsplash ฉันว่างานของคุณวิทเธอลีย์น่าสนใจ ใครสงสัยก็ทดสอบดูเองได้ ต่อไปขณะที่คุณสั่งจังค์ฟู้ดแสนอร่อยมากิน อย่าเพิ่งรีบกินจนหมด ขณะที่มันอยู่ในปาก ลองสังเกตรสชาติที่เขาสร้างมา สังเกตการรับรสของคุณช้า ๆ แล้วตามดูว่ามันสร้างความทรงจำอะไรในสมองของคุณ ความทรงจำที่สร้างประสบการณ์ฝังแน่น คือกุญแจสำคัญมากที่ทำให้คุณโหยหา พูดก็พูดเถอะเราก็ไม่ต่างอะไรกับน้องหมา พอบันทึกลงไปในสมองแล้ว เห็นมันอีกครั้งเมื่อไหร่ น้ำลายจะเกิดสอขึ้นมาเอง สนุกเป็นบ้า! นี่ก็แปลว่าถ้าเรารู้ทันสมอง เราสามารถควบคุมอาการอยากกินได้น่ะสิ ถ้าเราสร้างประสบการณ์ฝังลึกครั้งใหม่ให้น้อยที่สุด ยิ่งกินมันน้อยลงเท่าไหร่ ความทรงจำฟินใหม่ๆ ก็ไม่เกิด ถ้าเรากินเฟรนช์ฟราย พิซซ่า ไอศกรีม ไก่ทอด ขนมหวาน นาน ๆ ครั้ง สมองเราจะคิดถึงมันนาน ๆ ครั้งไปด้วย Photo by Farnath Firows on Unsplash พูดง่ายแต่ทำไม่ง่าย (เรื่องนี้ฉันเข้าใจ) แต่ในเมื่อเราเสพติดมันได้ เราก็น่าจะถอนใจจากมันได้ด้วย มี 3 วิธีที่จะช่วยให้คุณ (และฉัน) หลงใหลจังค์ฟู้ดน้อยลง เลี่ยงการซื้ออาหารที่ผ่านกระบวนการ เคลียร์บ้านให้ปลอดอาหารปรุงแต่ง ยิ่งเห็นน้อย ก็ยิ่งอยากน้อย ยิ่งลดโอกาสที่จะตกเป็นทาสมัน เพิ่มคุณค่าทางอาหารเข้าไป ฉันว่าวิธีนี้คือกุญแจที่ดีที่สุด เมื่อคุณหลงรักอะไร ก็มีแนวโน้มที่คุณจะถูกมันดึงดูดใจให้กินซ้ำ ๆ ถ้าทำใจบอกเลิกยังไม่ได้ ให้หาอะไรที่มีประโยชน์มากินด้วยกัน เช่น ถ้าจะกินไก่ทอดชิ้นหนึ่ง ต้องคู่กับสลัดผักสดชามใหญ่ ๆ หยุดคลายเครียดด้วยการกิน รู้ทันว่าเมื่อคุณเครียด สมองจะหลั่งสารเคมีบางอย่าง ซึ่งทำให้ร่างกายคุณสับสนระหว่างความเครียดกับความหิว คุณอาจรู้สึกว่าต้องการกินอะไรหวาน ๆ มัน ๆ ดังนั้นเมื่อรู้สึกเครียด ให้เปลี่ยนไปออกกำลังกายหรือนั่งสมาธิให้จิตใจสงบนิ่งแทน Photo by Kristina Bratko on Unsplash เราทุกคนก็เหมือนกัน ยังต้องการความสุขง่าย ๆ ที่หาได้จากการกินอาหารอร่อย แต่ควรเป็นอาหารอร่อยที่อร่อยมาจากตัวมันเอง ไม่ใช่การปรุงแต่งให้เราเสพติดจนหยุดคิดถึงมันไม่ได้ แค่รู้ทันการทำงานของสมอง แล้วคอยถอนประสบการณ์ฝังลึกออกไป “จังค์ฟู้ด” จะทำอะไรเราไม่ได้เลย