“เฉาก๊วย” หนึ่งในเมนูอาหารที่ครอบครองใจใครหลายๆ คน โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศร้อนมากเป็นพิเศษถ้าได้กินเฉาก๊วยรสหวานสดชื่น ทุบน้ำแข็งใส่ให้เย็นฉ่ำๆ ก็ชื่นใจดีสุดๆ เฉาก๊วยนับเป็นอาหารที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างยาวนานจากดินแดนมังกร มีคุณสมบัติเป็นยาแก้ร้อนในกระหายน้ำ ต้านการอักเสบในร่างกาย วันนี้เราเลยขอรวบรวมเอา 7 เรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับเฉาก๊วยมาฝากกัน จะมีอะไรบ้างนั้นมาดูกันเลยค่ะ 1.เฉาก๊วยทำมาจากหญ้าเฉาก๊วยตอนเด็กๆ เราเคยเข้าใจว่าเฉาก๊วยนั้นทำมาจากผงวุ้นใส่สี พอโตมาจึงได้รู้ว่าเฉาก๊วยทำมาจากหญ้าเฉาก๊วย โดยลักษณะของต้นเฉาก๊วยจะเป็นไม้พุ่มเตี้ยๆ ใบกลมสีเขียว มีลักษณะคล้ายกันกับใบสะระแหน่ ส่วนการทำเฉาก๊วยจะเริ่มจากการเอาหญ้าเฉาก๊วยมาล้างทำความสะอาดให้ดีจากนั้นนำมาตากแดดจนแห้ง สับเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำไปต้มจนสารเพกตินและยางของหญ้าเฉาก๊วยละลายออกมา ในขั้นตอนสุดท้ายจึงกรองเอาเฉพาะน้ำเฉาก๊วยมาใช้ 2.เฉาก๊วยมีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศจีนส่วนต้นกำเนิดของเฉาก๊วยก็มาจากประเทศจีน ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องสมุนไพรและยาต่างๆ โดยเฉาก๊วยมาจากประเทศจีนตอนใต้ มณฑลกวางตุ้ง ยูนาน และกวางสี 3.เฉาก๊วยมีฤทธิ์เย็น แก้ร้อนใน กระหายน้ำได้เป็นอย่างดีข้อนี้เรายืนยันว่าดีจริงเพราะหลังจากที่กินเฉาก๊วยจะรู้สึกถึงความเย็นสดชื่นภายในร่างกายได้เป็นอย่างดีเลยค่ะ ซึ่งไม่ใช่ว่าความเย็นที่เหมือนการกินน้ำแข็ง ไอศกรีม แต่จะเป็นความเย็นฉ่ำที่เกิดภายในตัว ช่วยดับกระหายคลายร้อน ช่วยลดอาการร้อนใน 4.เฉาก๊วย แคลอรีน้อยเหมาะกับช่วงลดน้ำหนักเฉาก๊วยปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงานแค่เพียง 35 kcal เท่านั้นจึงตอบโจทย์มากๆ สำหรับคนที่ต้องควบคุมแคลอรีเพื่อลดน้ำหนักแต่อยากกินขนมอยู่ โดยเราจะชอบเอาเฉาก๊วยที่ไม่ใส่น้ำเชื่อมมากินกับนมถั่วเหลืองและเพิ่มธัญพืช 5 สีเข้าไปด้วยบอกเลยว่าทั้งอร่อย ทั้งอิ่มท้อง แถมยังไม่ทำให้เราอ้วนอีกด้วย เพื่อสุขภาพที่ดีกว่าเราแนะนำว่าให้กินเฉาก๊วยที่ใส่น้ำเชื่อม น้ำตาลอ้อยน้อยๆ จะดีที่สุดเพราะตัวเฉาก๊วยเองมีแคลอรีไม่เยอะมาก แต่ต้นเหตุของความอ้วนคือน้ำเชื่อมและเครื่องเคียงอื่นๆ 5.เฉาก๊วยที่หนึบหนับอาจมีส่วนผสมของแป้ง ผงเจลาตินหรือผงวุ้นอยู่ด้วยเฉาก๊วยแท้ๆ ที่ไม่ใส่แป้งตัวเนื้อเฉาก๊วยอาจไม่หนึบหนับมากนักค่ะ แต่เพื่อการปรับเนื้อสัมผัสของเฉาก๊วยให้หนึบขึ้นผู้ผลิตจึงมักมีการใส่แป้งอย่างเช่น แป้งเท้ายายม่อม แป้งมันสำปะหลัง รวมไปจนถึงผงวุ้น ผงเจลาตินเข้ามาด้วยเพื่อให้ตัวเฉาก๊วยมีความหนึบ เคี้ยวอร่อย 6.เฉาก๊วย 100 กรัมมีปริมาณเส้นใยอาหารมากถึง 24% ช่วยให้อยู่ท้อง กระตุ้นการขับถ่ายได้เป็นอย่างดี เพราะเฉาก๊วยนั้นได้มาจากการใช้หญ้าเฉาก๊วยมาตากแดดจนแห้งแล้วนำไปต้มจนได้สารละลายเพกติน (pectin) ที่เป็นเส้นใยชนิดละลายน้ำได้ในน้ำเฉาก๊วย เส้นใยชนิดนี้เมื่อละลายน้ำแล้วจะเปลี่ยนตัวเป็นเจลที่คอยเคลือบผิวลำไส้และช่วยกระตุ้นการขับถ่ายได้เป็นอย่างดี กินเฉาก๊วยทุกวันได้ไหม? กินได้ แต่ต้องกินในปริมาณที่เหมาะสมค่ะเพราะด้วยคุณสมบัติของสารเพกตินที่เคลือบลำไส้ การกินเฉาก๊วยในปริมาณมากอาจทำให้แน่นท้อง ไม่สบายท้องและอาจทำให้เกิดอาการท้องผูกขึ้นมาได้ 7.สารละลายเพกตินในเฉาก๊วยยังช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลและไขมันข้อนี้เป็นประโยชน์ที่อิงมาจากข้อ 6 นั่นก็คือเพกตินเหมือนกันค่ะ เมื่อเพกตินละลายเคลือบลำไส้เล็กของเราจะทำให้การดูดซึมอาหาร ช่วยให้เรารู้สึกอิ่มได้นานขึ้น น้ำตาลและไขมันทำได้ช้าลง ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดจึงค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ส่วนตัวเฉาก๊วยเป็นของหวานที่เราชอบกินมากๆ ค่ะ ไม่ว่าจะเป็นเฉาก๊วยนมสด เฉาก๊วยทรงเครื่อง หรือสมัยนี้เขาก็มีการพลิกแพลงเอาเฉาก๊วยใส่ลงไปในพวกชานมที่จะช่วยลดแคลอรีลงไปได้เยอะเมื่อเทียบกับการใส่ไข่มุก เฉาก๊วยกินแล้วอยู่ท้อง แถมยังช่วยบรรเทาอาการร้อนใน กระหายน้ำได้เป็นอย่างดี เด็กกินได้เคี้ยวอร่อยเพราะความหนึบหนับ ส่วนผู้ใหญ่ก็กินดีเพราะมีแคลอรีน้อยแถมยังช่วยชะลออัตราการดูดซึมน้ำตาลและไขมันในเลือดได้ด้วย บอกได้เลยว่า “เฉาก๊วย” คือเมนูอาหารที่ทั้งอร่อยและดีต่อสุขภาพอย่างแน่นอนภาพหน้าปก ภาพที่1 โดย Leung Cho Pan จาก canvaภาพในเนื้อหา ภาพที่1 โดย charnsitr จาก canva / ภาพที่2-5 โดย ผู้เขียน หิวใช่ไหม อยากหาของกินอร่อย ๆ ใช่หรือเปล่า ส่องร้านเด็ดร้านดังได้ที่ App TrueID โหลดฟรี !